วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

บทความวิชาการ

ผักสวนครัวไร้พิษ เพื่อชีวิตยืนยาว
VEGETABLES GARDEN KITCHEN IS NOT TONIX FOR LIFE 

         ปาริชาติ ประเสริฐสังข์1, เจตพล จิตนนท์2, วราพร ศรีสมบัติ3, สาวิตรี ศรีรัตน์4, สุภาพร แก้วแสงสิม5, 
อภิเดช วงละคร6, อัมพวรรณ ทองพูล7
Parichart  Prasertsang1 ,Jattapon Jittanon2, Waraporn  seesombut3, Sawitree Seerut4,  
Supaporn Kaewsaengsim5, Apidet Wonglakhorn6, Ampawan Tongpoon7
สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด1,2,3,4,5,6,7

บทคัดย่อ

          พืชผักสวนครัว คือ ผักที่ปลูกไว้ประกอบอาหารส่วนมากนิยมปลูกภายในบริเวณบ้าน เพื่อความสะดวกแก่การนำมาบริโภคในครัวเรือน ถ้าเหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว ผลผลิตที่ปลอดสารพิษนั้นกรรมวิธีในการปลูกจะต้องเริ่มจากการเตรียมแปลงปลูก มีการขุดหลุมให้มีขนาดความกว้าง ความยาว เว้นทางเดินระหว่างแปลง  จากนั้นคัดเลือกเมล็ดพันธ์แล้วทดสอบการงอกของเมล็ดพันธุ์โดยการนำเมล็ดพันธุ์ใส่ภาชนะสำหรับการทดลองงอกเก็บไว้ในที่ร่มพรมน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ จากนั้นนำต้นกล้าย้ายลงปลูกแล้วดูแลรดน้ำ พรวนดิน หมั่นกำจัดศัตรูพืชโดยการใช้น้ำหมักชีวภาพที่ทำจากกากน้ำตาล และพืชผักต่างๆที่ศัตรูพืชไม่ชอบ การเก็บเกี่ยวต้องไม่มีสารพิษใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง งดใช้สารเคมี สารพิษฆ่าแมลง และกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เป็นสารเคมีเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักในการบำรุงพืชผักสวนครัวแทน เพื่อปราศจากการตกค้างของสารพิษ หลังการเก็บเกี่ยวทั้งนี้ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในปลูกผักปลอดสารพิษ ขั้นตอนการปลูกผักปลอดสารพิษ และคำนึงถึงความปลอดภัยต่อตนเอง ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเกษตรกรต้องสร้างความสมบูรณ์ของสุขภาพกายและใจ รวมทั้งร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้คงอยู่ต่อไปคือการทำการเกษตรโดยปฏิเสธการใช้สารเคมีทุกชนิด

คำสำคัญ: พืชผักสวนครัว, ผักปลอดสารพิษ

Abstract

            Backyard garden is a vegetable grown to cook the most popular home grown for convenience of household consumption if left, it can be sold as an extra income to the family non-toxin-free products must be planted before planting excavation were made to the width, length leave the path between the plots seed selection was then made and seed germination was tested by seed insertion for germinating experiments, keep them in the shade then the seedlings move into the plant and then watering the soil pest control by using bio-fermentation made from molasses and vegetables that the pest does not like,The harvest must be free of any toxins involved, no chemicals, insecticides, insecticides and pest control Including various hormones chemical change to manure bio-fermented juice to free from toxic residues after harvesting, The factors involved in planting organic vegetables should be considered The process of growing non-toxic vegetables and take into account the safety of yourself consumers and environment, farmers must build a healthy body and mind to keep the environment healthy is to continue farming by refusing to use all kinds of chemicals.

Keyword: backyard garden, organic vegetable



บทนำ
     มนุษย์เคยอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมของธรรมชาติที่สมดุล แต่ปัจจุบันความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มลภาวะที่เป็นพิษมีเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและการดำรงชีวิตผู้บริโภคทั่วไปเริ่มตระหนักถึงการดูแลสุขภาพมากขึ้น เริ่มใส่ใจเรื่องบริโภคเพื่อประโยชน์ต่อร่างกายและปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง สารเร่งการเจริญเติบโต และสารสังเคราะห์ประเภทต่าง ๆ ที่ใช้เพิ่มผลผลิต จากสถานการณ์ในการใช้เคมีป้องกัน กำจัดศัตรูพืชอย่างแพร่หลายในการเกษตรส่งผลให้สารพิษเหล่านั้นส่วนหนึ่งตกลงบนพื้นดิน และถูกชำระล้างให้ซึมลงสู่ดิน และแหล่งน้ำเกิดการสะสมของสารพิษในดิน มีผลต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในดินเมื่อสิ่งมีชีวิตในดินได้รับสารพิษเข้าไปในปริมาณมากก็จะตาย ทำให้ผู้จำนวนของผู้ย่อยสลาย อินทรียวัตถุลดลง เป็นผลให้ดินไม่อุดมสมบูรณ์เท่าที่ควร นอกจากนี้สารพิษบางชนิดจึงก่อให้เกิดมลพิษทางดินจน ไม่สามารถปลูกพืชดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้สารพิษในปริมาณสูงและติดต่อกันเป็นเวลานานสารพิษที่สะสมอยู่ในดิน แม้จะสลายตัวได้แต่การสลายตัวได้ช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและคุณสมบัติของสารพิษป่าศัตรูพืช ชนิดของดิน สารอินทรีย์ น้ำ สภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ตลอดจนชนิดของจุลินทรีย์ สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่ตรวจพบตกค้างในดินเป็นสารเคมีในกลุ่มคลอริเนตเตดไฮโดรคาร์บอน ซึ่ง สลายตัวได้ช้าและละลายน้ำได้น้อยผลจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อมุ่งผลผลิต โดยขาดความคำนึงถึงความปลอดภัยต่อตนเอง ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะเกษตรกรขาดความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ในปริมาณมากเกินจำเป็น มีการผสมสารหลาย ๆ ชนิด เพื่อกำจัดศัตรูพืชให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด โดยมิได้คำนึงว่าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่กำลังใช้อยู่นั้นเป็นพิษต่อตนเองมากน้อยเพียงใด ทำให้สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตเพียงใด  ทำให้สารเคมี ป้องกันกำจัดศัตรูพืชมีโอกาสที่จะตกค้างในอาหารได้มาก เช่น ผักต่าง ๆ มีการตรวจพบปริมาณการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มออร์แกนโนคลอรีน ออร์แกนโนฟอสเฟต และคาร์บอเนต ณ เวลานี้ทางเลือกเดียวที่เกษตรกรจะสร้างความสมบูรณ์ของสุขภาพกายและใจรวมทั้งร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้คงอยู่ต่อไปคือการทำการเกษตรโดยปฏิเสธการใช้สารเคมีทุกชนิดนั่นเอง [1]

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการปลูกผักสวนครัว
    พืชผักสวนครัว(backyard garden) คือ ผักที่ปลูกไว้ประกอบอาหารส่วนมากนิยมปลูกภายในบริเวณบ้าน เพื่อความสะดวกแก่การนำมาบริโภคในครัวเรือน ถ้าเหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว ผักสวนครัวมีอยู่หลายชนิดแต่ละชนิดนำมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ กัน อาจจะแบ่งประเภทของผักสวนครัวออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
          1. ประเภทกินผักใบ เช่น กระเพรา ผักชี คะน้า กะหล่ำปลี เป็นต้น
          2. ประเภทกินผักและผล เช่น มะเขือ พริก แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู บวบ เป็นต้น
          3. ประเภทกินดอก เช่น กะหล่ำดอก  โสน ขึ้นฉ่าย เป็นต้น
          4. ประเภทกินรากหรือหัว เช่น หอม ขิง ข่า ขมิ้น ผักกาดหัว กระเทียม เป็นต้น [2]

วิธีการปลูกผักสวนครัว
          1. การเตรียมแปลงปลูกเลือกบริเวณที่จะทำแปลง เมื่อได้แล้วขุดให้มีขนาดกว้าง 100 เซนติเมตร   ยาว 400 เซนติเมตร และเว้นทางเดินระหว่างแปลงกว้าง 50 เซนติเมตร ใช้จอบถางหญ้าบริเวณแปลงให้หมด ขุดดินให้ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร แยกดินบนและดินล่างไว้คนละข้างตากแดดไว้ 3 ถึง 7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคแล้วเตรียมหญ้าแห้ง ปุ๋ยคอก 4 ปิ๊บ ขี้เถ้าแกลบ 2 ปิ๊ป ปูนขาว 4 กำมือ ไว้ย่อยดินชั้นบนและชั้นล่างที่ขุดจากแปลงให้ละเอียด เกลี่ยดินชั้นบนลงในแปลงก่อนแล้วจึงเกลียดดินชั้นล่างลงทับ คลุกเคล้าดินชั้นบนและดินชั้นล่าง ปุ๋ย ขี้เถ้าแกลบ ปูนขาวให้เข้ากันดี ถ้าเป็นดินเหนียวควรเติมขี้เถ้าแกลบ 2 ปิ๊บ ดินทราย 1 ปี๊บ ปูนขาว 2 กำมือ จะทำให้ดินร่วนขึ้น
          2. การเลือกเมล็ดพันธุ์ผัก
      2.1 เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ยังใหม่เก็บไว้ไม่นาน
      2.2 เป็นเมล็ดพันธุ์ที่สะอาดไม่มีสิ่งเจือปน
      2.3 เป็นเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ไม่มีโรคหรือแมลง
      2.4 เป็นเมล็ดพันธุ์ที่เปอร์เซ็นต์การงอกสูง
      2.5 เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ตรงกับพันธุ์ที่ต้องการ
         3. ทดสอบการงอกของเมล็ดพันธุ์ก่อนที่จะนำไปปลูกควรนำมาทดลองการงอกก่อนนำไปเพาะ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดเมล็ดพันธุ์ ประหยัดเวลา และปริมาณจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับภาชนะ หรือแปลงเพาะได้ การทดสอบการงอกของเมล็ดพันธุ์ให้นำภาชนะสำหรับทดสอบการงอก เช่น จานหรือกระบะเพาะมา 1 ใบ ใส่ทรายลงไปในภาชนะให้มีความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร ทำให้หน้าเรียบพรมน้ำทรายให้ชุ่ม แล้วนำกระดาษฟางหรือกระดาษชำระ วางบนทรายแล้วพรมน้ำให้ชุ่มอีกครั้งหนึ่ง นำเอาเมล็ดพันธุ์ที่จัดทดสอบวางบนกระดาษ โดยกระจายให้ทั่วควรมีจำนวน 50  หรือ 100 เมล็ด ใช้ภาชนะชนิดเดียวกันปิดครอบไว้ แล้วนำไปเก็บไว้ในที่ร่มพรมน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ เมื่อครบ 5 วัน เปิดภาชนะที่ครอบเมล็ดออกแล้ว คำนวณเปอร์เซ็นต์การงอกโดยคิดจากจำนวนเมล็ดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 จึงจะถือว่ามีคุณภาพพอใช้ได้ หากต่ำกว่านี้ถือว่าไม่มีคุณภาพ เพราะทำให้เปลืองแรงงานและเงินทองมากเกินไป
          4. การปลูกผัก การปลูกผักสามารถแบ่งออกได้ 5 วิธี ตามชนิดของผัก ดังนี้
      4.1 เพาะต้นกล้าก่อนแล้วจึงย้ายลงปลูก การปลูกที่มีเมล็ดพันธุ์มีขนาดเล็กราคาแพง การเพาะต้นกล้าจะช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์ผักประเภทนี้ เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว มะเขือเทศ พริก เป็นต้น เมื่อต้นกล้าแข็งแรงจึงย้ายไปปลูกที่ใหม่ 
 
ภาพที่ 1 การเพาะเมล็ดในกระบะเพาะ

    4.2 หว่านเมล็ดลงไปในแปลงปลูกได้เลย เป็นผักที่เมล็ดราคาไม่แพง ดูแลรักษาง่าย ปลูก ถี่ ๆ ได้ เช่น ผักชี ผักกาดเขียว กวางตุ้ง คะน้า ผักบุ้ง เป็นต้น การหว่านเมล็ดทำได้ 2 วิธี คือการกระจายให้ทั่วทั้งแปลงและการโรยเมล็ดให้เป็นแถวในร่อง เมื่อต้นกล้า เริ่มออก 1-2 ใบให้เริ่มถอนต้นที่อ่อนแอไม่สมบูรณ์ต้นที่แน่นเกินไปออก และจัดระยะปลูกของต้นที่เหลือให้เหมาะสม
   4.3 ปลูกเป็นหลุม เป็นผักพวกที่มีเมล็ดโต เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ถั่วแขก แตงโม ฟักทอง มะระ เป็นต้น วิธีปลูกให้หยอดเมล็ดลงในหลุมของแปลงปลูกที่ขุดไว้หลุมละ 2-3 เมล็ด กลบดินด้วยดินละเอียดที่ผสมด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เมื่อต้นกล้ามีใบจริงประมาณ 2 ใบ ให้ถอนต้นที่อ่อนแอออก
      4.4 ฝังในแปลงปลูก เป็นต้นกล้าที่ใช้ส่วนต่าง ๆ ปลูก เช่น หอมแดง กระเทียม กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ ส่วนที่ใช้ปลูกอาจจะเป็นต้น ราก หรือหัว โดยการนำมาฝังในแปลงใช้ดินกลบเล็กน้อย หมั่นลดน้ำที่แตกหน่อขึ้นมาเป็นต้นใหม่
      4.5 การดูแล หมั่นลดน้ำ พรวนดิน กำจัดศัตรูพืชและวัชพืชอยู่เสมอ ถ้าพบต้นพืชเป็นโรคให้ถอนทิ้ง และนำไปฝังหรือเผา ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและตอนเย็น
          5. การสงวนความชื้นในดินการลดน้ำต้องการน้ำมากหรือน้อยต่างกันตามชนิด อายุ และสภาพของพืช พืชพวกตะบองเพชรต้องการน้ำน้อยกว่าพืชชนิดอื่น พืชจำพวกผักต้องการน้ำมากกว่าพืชยืนต้น ควรลดน้ำทั้งเช้าและเย็น พืชที่ยังเป็นต้นอ่อนหรือพืชที่พึ่งทำการย้ายปลูก ระบบรากไม่สมบูรณ์ เต็มที่ จึงต้องการน้ำมากกว่าพืชที่เติบโตและมีรากที่สมบูรณ์แล้ว การรดน้ำจึงควรรดน้ำทั้งเช้าและเย็น ถ้ามีแดดควรให้ร่มบังแดดให้จนกว่าจะตั้งตัวได้ เพราะร่มบังแดดจะช่วยไม่ให้พืชสูญเสียน้ำมากเกินไป พืชผักสวนครัวที่ตั้งตัวได้แล้วอาจให้น้ำวันละครั้งในตอนเช้า ปริมาณน้ำที่ให้แก่พืชควรให้แต่พอเหมาะ โดยรดให้ดินชุ่มน้ำแต่อย่าให้มีน้ำขังแฉะ เพราะรากพืชจะเน่า เนื่องจากขาดอากาศหายใจและมีโรคพืชรบกวน ควรทำให้พืชผักได้รับการพรวนดินเป็นการทำให้ดินร่วนซุยช่วยในการระบายน้ำ ระบายอากาศไปด้วยดี ทำให้พืชอุ้มน้ำได้ดี การพรวนดินยังเป็นการทำลายวัชพืชและการป้องกันการชะล้างหน้าดินด้วยการระบายน้ำในกรณีที่มีน้ำมากเกินความต้องการของพืชต้องระบายน้ำออกไม่ให้ท่วมขังแปลงพืชอยู่นาน เพราะจะทำให้พืชตายได้
        6. ประเภทของพืชผักสวนครัวที่ปลูกวิธีการปลูกคะน้า คะน้าเป็นผักที่เราปลูกเพื่อบริโภคส่วนของใบและลำต้น เป็นผักที่มีความสำคัญและนิยมบริโภคมากในบ้านเราและหลายประเทศในทวีปเอเชีย เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย เป็นต้น คะน้าเป็นองค์ประกอบสำคัญของก๋วยเตี๋ยว ผัดราดหน้า และอาหารผัดต่าง ๆ ผู้ปรุงและผู้บริโภคมีความนิยมใช้ส่วนของก้านมากกว่าส่วนของใบ พันธุ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันจึงมีแนวโน้มพัฒนาเป็นพันธุ์ ก้าน นอกจากนี้ยอดคะน้าซึ่งได้จากคะน้าต้นอ่อนสามารถใช้แทนคะน้าต้นโตได้ดี เนื่องจากรสชาติดีและสามารถใช้ปรุงอาหารได้ง่าย
7. สภาพแวดล้อมที่ต้องการ
ประเภทดิน แทบทุกชนิดที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง
พีเอชดิน    ช่วงที่เหมาะสม 5.5 - 6.8
ความชื้น    ในดินสูงสม่ำเสมอ
แสง          แสงแดดเต็มที่
อุณหภูมิ    ช่วงที่เหมาะสม 20 - 25 องศาเซลเซียส
         8. การเตรียมดินและแปลงปลูก ดินที่ใช้ทำเกษตรทั่วไปขณะนี้เป็นดินที่เสื่อมคุณภาพ เป็นดินที่ตายที่แข็งกระด้าง ขาดอินทรียวัตถุ และธาตุอาหารอย่างมาก ดังนั้นการเตรียมดินให้มีประสิทธิภาพมีชีวิต จึงทำได้ยากและต้องการใช้แรงงานมาก การประกอบการเกษตรธรรมชาติเชิงธุรกิจเป็นการประกอบการขนาดใหญ่พอที่จะส่งผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาดินที่เสื่อมสภาพสามารถแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มอินทรียวัตถุ เข้าไปมีวิธีการประหยัดโดยใช้ปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน พืชนิยมนำมาปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดส่วนใหญ่จะเป็นพืชตระกูลถั่ว เนื่องจากได้ทั้งอินทรียวัตถุที่เกิดจากลำต้น ใบ ดอก แล้วยังได้ธาตุไนโตรเจนจากแบคทีเรียที่เกิดในปมรากอีกด้วย


ภาพที่ 2 การเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน

9. การจัดทำแปลงปลูกดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
      9.1 ไถพรวนดินทั้งแปลง
      9.2 วางแผน จัดประเภทแปลงปลูกพืชจะเอาไว้ที่ไหนอย่างไร
      9.3 กำหนดระยะเวลาต่าง ๆ ของแปลงปลูกพืชตามแผน ทำการตีเส้นโดยใช้เชือกขึงหาแนว
      9.4 ทำการขุดร่องทางเดินหรือร่องให้น้ำ โดยใช้แรงคนหรือเครื่องยกแรง
        10. วิธีปลูกนิยมแบบหว่านกระจายเมล็ดโดยตรงในแปลงมากกว่าย้ายต้นกล้า เพราะต้นกล้าหรือต้นคะน้าขนาดเล็กที่ถอนแยกออกสามารถจำหน่ายได้เป็นคะน้ายอดและเป็นที่ต้องการของตลาดสูง
          11. การเก็บเกี่ยวอายุการเก็บเกี่ยวของคะน้าพันธุ์ที่นิยมปลูกในบ้านเราประมาณ 45 - 55 วันซึ่งเป็นคะน้าที่โตเต็มที่ สำหรับคะน้าต้นอ่อนหรือที่เรียกว่ายอดคะน้ามักเก็บเกี่ยวขณะถอนแยกหรือที่มีอายุประมาณ 25 - 30 วัน ใช้มีดตัดต้นคะน้าบริเวณโคนต้นรวบรวมนำมาตัดตกแต่เอาส่วนใบแก่ที่เป็นโรคหรือถูกแมลงทำลายออก แล้วจึงบรรจุส่งตลาดต่อไป [3]

ผักปลอดสารพิษ
          ผักปลอดสารพิษ หมายถึง ผักที่ไม่มีสารพิษ
ใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในการผลิต งดใช้ปุ๋ยเคมี สารพิษฆ่าแมลง และกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เป็นสารเคมีและปราศจากการใช้สารเคมีต่าง ๆ หลังการเก็บเกี่ยว [4]

ภาพที่ 3 ผักปลอดสารพิษ

ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงก่อนการปลูกผักปลอดสารพิษ
          การปลูกผักปลอดสารพิษ ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงก่อนที่เกษตรกรจะลงมือสร้างสวนผักมีอยู่หลายประการด้วยกันซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อการประสบผลสำเร็จเบื้องต้นปัจจัยเหล่านั้นได้แก่ [5]
          1. ลักษณะพื้นที่ พื้นที่ที่เหมาะสมในการทำสวนผัก ความเป็นพื้นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึงระบายน้ำได้สะดวกและเป็นที่โล่งแจ้งพบพืชผักต้องการ แสงแดดโดยตรงอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง จึงจะเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนั้นดินก็ควรจะเป็นดินดิบ อุดมสมบูรณ์ มีธาตุอาหารเพียงพอและมีลักษณะร่วนซุย ดินที่เป็นดินเหนียวหนักอย่างบริเวณกรุงเทพฯ ก็อาจปรับปรุงให้เหมาะแก่การปลูกผักได้โดยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและปูนขาว เพื่อช่วยให้ดินร่วนดีขึ้น
           2. ขนาดของพื้นที่ ขนาดของพื้นที่ทำสวนผักขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของเกษตรกร หากต้องการปลูกผักสวนครัวก็ใช้พื้นที่บริเวณบ้านได้ แต่ถ้าจะปลูกเพื่อการค้าหรือปลูกเพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องใช้พื้นที่มากขึ้นและต้องมีการวางแผนการปลูกพืชที่ดีด้วย
         3. แหล่งน้ำพืช ผักเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากและสม่ำเสมอ เพราะเป็นพืชอายุสั้นและมีรากตื้นน้ำจะนับว่ามีความจำเป็นต่อการปลูกผักมาก พื้นที่ที่ปลูกผักจึงควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งสามารถให้น้ำได้พอเพียงตลอดอายุของพืชผัก
          4. แรงงาน แรงงานนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากในสวนผักขนาดเล็ก อาจจะใช้แรงงานในครอบครัวได้ แต่สวนผักขนาดใหญ่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก บางครั้งจึงอาจมีปัญหาถ้าขาดแรงงานกะทันหัน เพราะงานบางอย่างไม่สามารถใช้เครื่องทุ่นแรงทำแทนได้ เช่น การเตรียมต้นกล้า การถอนแยก ตลอดจนการเก็บเกี่ยว เป็นต้น แต่ถ้ามีการวางแผนเกี่ยวกับแรงงานให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพได้ปัญหาเรื่องแรงงานก็จะหมดไป
          5. ภูมิอากาศ อุณหภูมิก็เป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช ถ้าเราเลือกปลูกพืชไม่เหมาะสมกับภูมิอากาศมาปลูกก็จะไม่ได้ผล เช่น ผักที่มีลักษณะนิสัยชอบอากาศเย็น เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนก็ย่อมไม่ได้รับผลผลิต
          6. การคมนาคม สวนผักที่ปลูกเป็นการค้าควรอยู่ในแหล่งที่การคมนาคมสะดวก เพื่อที่จะได้ขนส่งผลผลิตออกไปจำหน่ายได้อย่างรวดเร็ว ผักจะสดไม่ชอบความซ้ำมาก ทำให้ขายได้ราคา
          7. ตลาด ควรปลูกผักให้ตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งชนิดผักปริมาณและคุณภาพ เพราะจะทำให้ขายผลผลิตได้ในราคาดี หากเกษตรกรไม่รู้ความต้องการของตลาดหรือปลูกผักไม่ตรงตามที่ตลาดต้องการก็จะขายไม่ได้ราคา หรือบางครั้งอาจจะขายได้ไม่คุ้มกับทุนที่ลงไป
           8. ระบบการปลูกพืช การวางระบบปลูกพืชว่าจะปลูกอะไร ช่วงไหน จะช่วยให้ใช้พื้นที่ปลูกได้อย่างคุ้มค่า แต่ทั้งนี้ก็ต้องนึกถึงปัจจัยหลายประการมาประกอบกันด้วย เช่น ฤดูกาล ชนิดของผัก การปฏิบัติดูแลรักษา สภาพพื้นที่และคุณภาพผลผลิตที่ตลาดต้องการ
            9. เมล็ดพันธุ์พืช ส่วนใหญ่แล้วการปลูกผักเป็นการปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ ดังนั้นถ้าเมล็ดพันธุ์ดีก็จะทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและได้ผลผลิตสูงอีกด้วย
          การบริโภคผักที่มีวัตถุมีพิษตกค้างอยู่เกินค่าปลอดภัย ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาคือ การได้รับสารพิษที่สะสมอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทำให้เกิดอาการในระบบต่าง ๆ ขึ้นได้แก่ การทำลายระบบประสาทระบบการทำงานของกล้ามเนื้อ และระบบขับถ่ายของร่างกาย จะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยและจำนวนผู้ตายที่เกิดจากการได้รับสารพิษเพิ่มมากขึ้นกล่าวคือในปี พ.ศ. 2531 มีจำนวนผู้ป่วยจากสารพิษทางการเกษตร 4,234 ราย และเสียชีวิต 34 ราย พอถึงปี พ.ศ. 2532 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มเป็น 5,348 ราย ได้เสียชีวิต 39 ราย และจากสถิติอัตราการป่วย อัตราการตายพบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ภายหลังปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมาอัตราการป่วยลดน้อยลงแต่ในขณะเดียวกันอัตราการตายและอัตราการป่วยตายปรับเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีการควบคุมการนำเข้าและการใช้สารพิษได้รับกุมมากขึ้น รวมทั้งการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่เนื่องจากอัตราการป่วยตายเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าโรคที่เกิดจากสารพิษยังมีความรุนแรงอยู่อย่างต่อเนื่อง เดี๋ยวนี้ใครๆก็หันมาใส่ใจสนใจดูแลสุขภาพของตัวเอง และคำนึงถึงสุขภาพของคนอื่นด้วย เพราะการปลูกผักสวนครัวเชิงพาณิชย์ เน้นการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงกำจัดศัตรูพืช ทำให้เกิดสารตกค้างในพืชผักที่เราบริโภคเข้าไปทุกวันๆ เกิดการสะสมเข้าสู่ร่างกายวันละเล็กวันละน้อยค่อยๆซึมซับไปทีละนิดทีละหน่อย จึงอยากให้ทุกคนหันมาเลือกบริโภคผลผลิตจากธรรมชาติปลอดสารเคมีหรือเน้นการปลูกพืชผักสวนครัวระบบอินทรีย์ สร้างแหล่งอาหารสีเขียวภายในนั้นโดยใช้พื้นที่ว่างบริเวณตัวบ้านรอบๆบ้าน เช่นบริเวณระเบียง บริเวณข้างๆบ้านให้เป็นสวนครัวขนาดมินิมากประโยชน์ ใช้ได้กับบุคลากรทั่วไป ชาวไร่ ชาวสวน เกษตรกรหลังจากว่างเว้นจากการทำนาในช่วงฤดูแล้งนี้ นอกจากเราจะมีผักสดๆไว้ทำอาหาร ผักบางชนิดยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพร่างกายคนเรา ช่วยประหยัดเงิน ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยลดอุณหภูมิโลกร้อนได้ ช่วยสร้างความสดชื่น และที่สำคัญผักสวนครัวใช้ตกแต่งบ้าน ทำให้ได้ภูมิทัศน์ที่สวยงามในเวลาเดียวกัน

บทสรุป
     การปลูกพืชผักสวนครัวแบบไร้สารพิษนั้น เกษตรกรมีความจำเป็นที่จะต้องทราบถึงแนวทางและเทคนิควิธีในการปลูกผักปลอดสารพิษเพิ่มมากขึ้น เพราะการบริโภคผักที่มีวัตถุมีพิษตกค้างอยู่เกินค่าปลอดภัยนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาคือ การได้รับสารพิษที่สะสมอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทำให้เกิดอาการในระบบต่าง ๆ ขึ้นได้แก่ การทำลายระบบประสาทระบบการทำงานของกล้ามเนื้อ และระบบขับถ่ายของร่างกายทั้งนี้เนื่องจากการปลูกผักปลอดสารพิษมีขั้นตอนในการปลูกที่ยุ่งยากมากขึ้นดังนั้นเกษตรกรควรทราบถึงปัจจัยเบื้องต้นที่ควรคำนึงถึงเมื่อต้องการทำสวนผัก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักสวนครัว ปลูกผักทั่วไป หรือปลูกผักปลอดสารพิษ นั้นก็คือ ลักษณะพื้นที่ขนาดของพื้นที่ แหล่งน้ำของพืช แรงงานภูมิอากาศการคมนาคม ความต้องการของตลาด ระบบการปลูกพืช และเมล็ดพันธุ์พืช อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชผักที่ปลอดสารพิษนั้นย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายของผู้ผลิตและผู้บริโภค พร้อมทั้งมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและปราศจากมลพิษ

เอกสารอ้างอิง
[1] กนกวรรณ อยู่วงศ์.  (2541).  การศึกษาการยอมรับของเกษตรกรในการปลูกผักปลอดสารพิษ.  วิทยานิพนธ์ ศษ.ม. (สิ่งแวดส้อมศึกษา).  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล.  ถ่ายเอกสาร.
[2] สุรศักดิ์ สมมุติรัมษ์.  (2547).  การพัฒนาแผนการเรียนรู้งานเกษตรโดยโครงงานเรื่องการปลูกผักสวนครัว กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (หลักสูตรและการสอน).  มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  ถ่ายเอกสาร.
[3]สุวิทย์ เขาแก้ว.  (2554).  การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้เรื่องการปลูกผักสวนครัว กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้วิธีสอนแบบโครงงาน.  วิทยานิพนธ์ ค.ม. (หลักสูตรและการสอน).  ลพบุรี: มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.  ถ่ายเอกสาร.
[4]เอมอร ปฐมลิขิตกาญจน์.  (2547).  ปัจจัยทางการตลาดและทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อผักปลอดภัยจากสารพิษ ในเขตกรุงเทพมหานคร.  วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (ธุรกิจการเกษตร).  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  ถ่ายเอกสาร.
[5] กองบรรณาธิการฐานเกษตรกรรม.  (ม.ป.ป.).  รวมเรื่องผัก.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  กรุงเทพ ฯ: โรงพิมพ์มิตรสยาม.